วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558


ปลาที่มีเกล็ด                




              ปลาตะเพียนหางแดง
ลักษณะทั่วไป
                เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างป้อมสั้น ลำตัวแบนข้าง หัวเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ นัตย์ตาเล็ก ปากเล็กและอยู่ปลายสุด หนวดเล็กและสั้นมี 2 คู่ เกล็ดมีขนาดใหญ่ ครีบกระโดงหลังสูง และกว้างมีสีแดง ลำตัวเป็นสีขาวเงินและสีเหลืองปนส้ม ด้านหลังสีเทาปนเขียว แก้มสีเหลืองปนแดง ขนาดของลำตัวความยาว 15 - 35 เซนติเมตร
นิสัย                       รักสงบ อยู่รวมกันเป็นฝูง ปราดเปรียว ว่องไว ไม่อยู่นิ่งชอบว่ายน้ำตลอดเวลา
ถิ่นอาศัย               พบทุกภาคในประเทศไทย ทำให้มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป
อาหาร                    พืชพันธุ์ไม้น้ำ ตัวอ่อนแมลงน้ำ ซากสัตว์และพืชที่เน่าเปื่อย 


                ปลากระโห้
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง เป็นปลาน้ำจืดจำพวก ปลาตะเพียน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลำตัวค่อนข้างป้อมแบนข้าง พื้นลำตัวสีเทาแซมชมพู สันหลังเป็นสีน้ำตาลอมดำ ด้านข้างและส่วนท้องมีสีจางกว่า ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ มีหัวยาวและใหญ่ผิดปกติ หัวมีผิวเรียบมัน ไม่มีเกล็ดคลุม ความยาวของหัวประมาณ 1ใน3 ของลำตัว ตาโตและยื่นโปน ริมฝีปากล่างหนาและยื่นออกมาพ้นริมฝีปากด้านบน ปากกว้างขากรรไกรยาวถึงบริเวณตา มีฟันที่คอหอยเป็นแถวอยู่ข้างละแถว ไม่มีหนวด เกล็ดมีขนาดใหญ่ขอบเรียบ ครีบหลังสูงและอยู่ตรงกับครีบท้อง ครีบก้นค่อนข้างยาว ครีบหางเป็นแถบเว้าลึก ครีบทุกอันมีสีแดงปนส้ม ปลาตัวผู้มีลำตัวเล็กและเรียว ส่วนท้องแบบเรียบสีดำคล้ำกว่าตัวเมีย
นิสัย                       มีนิสัยรักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมเป็นฝูงในแหล่งน้ำลึก แข็งแรงและอดทน
ถิ่นอาศัย               ประเทศไทย เคยมีอยู่ชุกชุมในลุ่มแม่นํ้า แม่กลอง เจ้าพระยาจนถึงบอระเพ็ดในปัจจุบันมีปริมาณน้อยลงมาก แต่ก็ยังมีปรากฏให้พบเห็นอยู่บ้างในลำนํ้าโขง ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า ปลากะมัน หรือ หัวมัน
อาหาร
                    แพลงก์ตอน พืชนํ้า 

ปลากา 
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาน้ำจืดขนาดกลาง ลำตัวเรียวยาวแบนข้าง พื้นลำตัวสีม่วงดำหรือน้ำเงินดำ เกล็ดมีขนาดใหญ่คลุมตลอดลำตัวยกเว้นส่วนหัว หัวเรียวแหลม ปากยืดหดได้ ไม่มีฟัน ริมฝีปากบนและล่างเป็นหยัก มีติ่งเนื้อเป็นฝอยสั้น ๆ อยู่รวมกันเป็นกระจุก มีหนวด 2 คู่ ครีบหลังมีขนาดใหญ่และสูงมาก ครีบหู ครีบท้อง และครีบก้น เรียวยาวและมีขนาดไล่เลี่ยกัน ครีบหางยาวเป็นแฉกเว้าลึก ครีบทุกครีบมีสีดำ
ถิ่นอาศัย               ประเทศไทย แหล่งน้ำที่มีระดับน้ำตื้นๆ และมีพันธุ์ไม้น้ำ
อาหาร                    ตะไคร่น้ำ พืชน้ำขนาดเล็ก แพลงก์ตอน ซากพืชและตัวอ่อนแมลงน้ำ


ปลาเสือพ่นน้ำ
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาผิวน้ำขนาดเล็ก พบได้ทั้งในแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย ลำตัวป้อมสั้นและแบนข้าง ความยาวลำตัวประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร พื้นลำตัวสีเงินแซมเหลือง บริเวณท้องมีสีขาวเงิน มีแถบสีดำขนาดใหญ่พาดขวางลำตัว 5 - 6 แถบ ปากมีขนาดใหญ่และเฉียงขึ้นข้างบน ดวงตากลมโต และอยู่ค่อนไปทางสันหลังกลับกลอกไปมาได้ สีของครีบหลังและครีบก้นเป็นสีส้มอมเหลือง ขอบครีบเป็นสีดำ ครีบหลังส่วนหน้ามีก้านครีบแข็ง
นิสัย       ปลาเสือมีความสามารถพิเศษอยู่สองประการ คือ สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่เหนือน้ำ ได้เป็นระยะห่าง 3 - 5 ฟุต และอีกประการหนึ่ง คือ สามารถพ่นน้ำได้สูงถึง 1.5 เมตร จากผิวน้ำ พ่นน้ำได้โดยแรงดันอย่างรวดเร็วของแผ่นปิดเหงือกกับช่องเล็กๆ ใต้เพดานปาก เพื่อให้เหยื่อตกลงมาและจับกินได้ เป็นปลาที่ก้าวร้าว ชอบอยู่รวมเป็นฝูง และลอยตัวอยู่ผิวน้ำ เพื่อคอยจับแมลงผิวน้ำกิน
ถิ่นอาศัย               ประเทศไทย อยู่ตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงที่มีทางเชื่อมติดต่อกับแม่น้ำและตามบริเวณปากแม่น้ำ
อาหาร                   แมลงน้ำ ลูกกุ้ง ลูกปลา ลูกน้ำ แมลงที่บินอยู่เหนือผิวน้ำ 


ปลาสลาด
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างคล้ายปลากรายแต่มีขนาดเล็กกว่า ไม่มีจุดสีดำที่ครีบก้น ลำตัวมีสีขาวปนเทา ครีบหลังและครีบอกมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบท้องมีขนาดเล็กมาก ครีบก้นและครีบหางเชื่อมติดกันเป็นแผ่นเดียว โดยทั่วไปมีขนาดความยาว 15 - 20 เซนติเมตร ขนาดใหญ่สุดเท่าเคยพบมีความยาวถึง 30 เซนติเมตร
นิสัย                       ขี้อาย ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ และหลบพักตามตอไม้หรือซอกหิน ไม่ชอบแสงสว่างมาก ออกหากินในเวลากลางคืน โดยชอบผุดขึ้นมาฮุบอากาศทำเสียงที่ผิวน้ำและม้วนตัวกลับให้เห็นข้างขาวคล้ายสีเงิน
ถิ่นอาศัย               พบในแม่น้ำคลองทั่วไปของทุกภาคของไทย
อาหาร                    ลูกปลา ลูกกุ้ง 

ปลากราย 
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาน้ำจืดรูปร่างคล้ายปลาฉลาก ท้องแบน ลำตัวด้านข้างแบนมากสันหลังส่วนต้นสูงชันและค่อย ๆ ลาดลงไปยังส่วนหางคล้ายมีด พื้นที่ลำตัวสีเทาเงิน ลำตัวส่วนบนสีคล้ำกว่าด้านล่าง เกล็ดละเอียด หัวมีขนาดเล็กปลายหัวแหลมมน ปากกว้างสั้นทู่ นัยน์ตาเล็ก มีฟันแหลมคมบนขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง ครีบหลังขนาดเล็กปลายมนคล้ายขนนก ครีบท้องยาวเป็นแพรเชื่อมกับครีบหาง เหนือครีบก้นมีจุดดำกลางขนาดใหญ่ล้อมรอบ ด้วยวงแหวนสีขาวเรียบเป็นแถวอยู่ 5 - 10 จุด ลูกปลากรายเมื่อยังเล็กมีแถบสีดำประมาณ 10 -15 แถบพาดขวางลำตัว เมื่อโตขึ้นแถบดำเหล่านี้จะค่อยจางหายไปกลางเป็นจุดขึ้นมา แทนที่ มีขนาดความยาวประมาณ 48 - 85 เซนติเมตร
นิสัย                       ชอบอยู่รวมเป็นฝูงเล็กๆ และหลบพักตามตอไม้ หรือซอกหิน ไม่ชอบแสงสว่างมากจึงมักออกหากินในเวลากลางคืน ชอบผุดขึ้นมาทำเสียงที่ผิวน้ำแล้วม้วนตัวกลับให้เห็นข้างสีเงินขาว
ถิ่นอาศัย               ประเทศไทย พม่า อินเดีย มาเลเซีย ในไทยพบทั่วไปตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง ภาคเหนือเรียกว่า ปลาแพน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ปลาตองกราย
อาหาร                    แมลงน้ำ ลูกกุ้ง ปลาผิวน้ำตัวเล็กๆ


                ปลาตะเพียนขาว
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาน้ำจืดคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่รู้จักดีตั้งแต่สมัยสุโขทัย ลักษณะ ลำตัวอ้วนป้อม หัวเล็กเกล็ดใหญ่ ปากเล็ก ลักษณะที่แตกต่างจากพวกเดียวกันคือมีก้านครีบอ่อนของครีบก้นอยู่ 6 ก้าน ส่วนชนิดอื่นมี 5 ก้าน สีของลำตัวเป็นสีเขียวอมฟ้า ด้านหลังสีน้ำตาลปนเทา ท้องสีขาว เป็นปลาที่ปราดเปรียวว่ายน้ำรวดเร็ว กระโดดได้สูงมาก มีขนาดความยาวประมาณ 8 - 20 เซนติเมตร
นิสัย                       รับสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงนอกจากเวลาสืบพันธุ์หรือวางไข่ มีความว่องไวปราดเปรียว ชอบหลบซ่อนตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงที่มีกระแสน้ำไหลอ่อน ๆ หรือน้ำนิ่ง เป็นปลาที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี สามารถนำมาเลี้ยงและเพาะพันธุ์ได้ง่าย
ถิ่นอาศัย               พบในแหล่งน้ำไหล และน้ำนิ่งในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อาหาร                    พืช เมล็ดพืช เมล็ดพืชตระกูลหญ้า สาหร่าย ตะไคร่น้ำ ซากพืชซากสัตว์ แพลงตอน และไรน้ำ 


ปลานิล
ลักษณะทั่วไป

                เป็นรูปร่างคล้ายปลาหมอเทศ แตกต่างกันที่ปลานิลมีลายสีดำและจุดสีขาวสลับกันไป บริเวณครีบหลัง ครีบก้นและลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล มีลายดำพาดขวางตามลำตัวมีความยาวประมาณ 10 - 30 เซนติเมตร
นิสัย                       อดทน เลี้ยงง่าย โตเร็ว สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
ถิ่นอาศัย               ปลานิลเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยเจ้าชายฮากิฮาโต มงกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 จำนวน 50 ตัว
อาหาร                    จำพวกไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลง 


ปลาชะโด
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาน้ำจืด ลำตัวกลมยาวเป็นรูปทรงกระบอก รูปร่างคล้ายคลึงกับปลาช่อน เป็นปลาที่มีรูปร่างใหญ่ที่สุดในสกุลนี้ ลูกปลาชะโดเมื่อยังเล็ก ลำตัวมีสีน้ำตาลและแถบสีเหลืองอมส้มพาดตามยาว โดยบริเวณโคนหางมีสีแดงสด เมื่อโตขึ้นส่วนบนของลำตัวมีสีเขียวอมน้ำเงินเข้มคลายสีเปลือกหอยแมลงภู่ ส่วนท้องสีขาว กึ่งกลางลำตัวมีแถบดำพาดไปตามความยาวของลำตัว ภายในปากมีฟันแหลมคม ครีบหลังและครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหางมนกลม ปลาชะโดมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจโดยไม่ต้องกรองผ่านช่องเหงือกเหมือนปลาช่อน
นิสัย                       เป็นปลาน้ำจืดที่ค่อนข้างดุ
ถิ่นอาศัย               ในแม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
อาหาร                    สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่า 


ปลาสร้อย
ลักษณะทั่วไป

                ลำตัวปราดเปรียว แบนข้าง ปากมีขนาดเล็ก กึ่งกลางของริมฝีปากมีปุ่มกระดูกยื่นออกมา ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของปลาในตระกูลนี้คือไม่มีหนวด ตามปกติจะหากินกันเป็นฝูง ๆ ขนาดความยาวประมาณ 7 - 20 เซนติเมตร
นิสัย                       รักสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง
ถิ่นอาศัย               พบทั่วไปทุกภาคของไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
อาหาร                    พืชน้ำ แมลงน้ำ 


ปลาแรด
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์ปลาหมอ ลำตัวสั้นป้อมและแบนข้าง เกล็ดมีขนาดใหญ่ หัวเล็กและป้าน ปากเฉียงขึ้นสามารถยืดหดได้ มีฟันแข็งแรง สันลำตัวส่วนที่อยู่ติดกับหัวจะโหนกสูงคล้ายนอแรด ครีบหลังและครีบก้นค่อนข้างยาว และมีก้านเป็นหนามแข็ง ครีบท้องมีก้านแข็ง 1 อัน ก้านครีบอ่อน 5 อัน ก้านครีบอ่อนคู่แรกมีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว ลักษณะคล้ายหนวดยาวเลยไปถึงปลายหาง คลีบหางมนกลมมีจุดสีดำที่โคนหางข้างละจุด สีสันของลำตัวจะเปลี่ยนไปตามขนาดและอายุของปลา เมื่อยังเล็กพื้นลำตัวจะเป็นสีม่วงอมเหลืองและมีแถบสีดำข้างและ 8 แถบ พาดขวางลำตัว เมื่อปลาโตขึ้นลำตัวด้านบนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนดำหรือสีเทา ด้านล่างเป็นสีขาวแกมเหลือง ส่วนจุดที่โคนหางจะเลือนหายไป มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ สามารถมีชีวิตอยู่บนบกได้นาน ๆ หรือสามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ ๆ
นิสัย                       เป็นปลาที่ตื่นตกใจง่าย และค่อนข้างเชื่องช้า มีนิสัยดุร้าย มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อม การวางไข่ของปลาชนิดนี้แตกต่างไปจากปลาชนิดอื่น กล่าวคือมันจะใช้กิ่งไม้ ก้านไม้และวัตถุอื่นๆ มาสร้างรังคล้ายรังนก ไข่ของปลาชนิดนี้มีขนาดใหญ่ มีไขมันมาก ลอยน้ำ
ถิ่นอาศัย               ประเทศไทย ในแม่น้ำและหนองบึงที่มีทางน้ำติดต่อกันกับแม่น้ำ ภาคกลางพบที่แก่งกระจาน จังเหวัดเพชรบุรีและในลำน้ำเจ้าพระยาและสาขา ทางภาคใต้เรียกกันว่า ปลาเม่นหรือปลามิ่น พบในลำน้ำตาปีและสาขา
อาหาร                    พืชแทบทุกชนิด



อ้างถึง  ปลาที่มีเกล็ด : http://www.fisheries.go.th/sf-ratburi/Fish/Fish.htm 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น