วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปลาไม่มีเกล็ด

                ปลาเค้า
 ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ อยู่ในวงศ์เดียวกับปลาเนื้ออ่อน ลำตัวค่อนข้างแบนยาวคล้ายมีดดาบ ไม่มีเกล็ดตามลำตัว ลำตัวมีสีเงินปนเทา ท้องขาวอมส้ม ครีบต่าง ๆ สีเหลืองอ่อน นัยน์ตามีขนาดเล็ก ปากกว้าง มีฟันแหลมคมอยู่บนขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง ครีบหลังเล็ก ครีบก้นเป็นแผงยาวจรดโคนหาง มีหนวดยาวอยู่ 2 คู่ ที่ริมฝีปากบนและล่าง ครีบหางเล็กเป็นแฉกเว้า
นิสัย                       ปราดเปรียวว่องไวไม่อยู่นิ่ง ว่ายน้ำเก่ง บางครั้งพุ่งตัวขึ้นเหนือน้ำ และปล่อยตัวให้ตกลงมาทำให้เกิดเสียงดัง
ถิ่นอาศัย               พบอยู่ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา บึงบอระเพ็ด แม่น้ำโขง
อาหาร                    กินปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาสร้อย 


ปลาเทโพ
ลักษณะทั่วไป
                เป็นปลาไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายปลาสวาย เพราะเป็นปลาในสกุลเดียวกัน มีหัวโต หน้าสั้นทู่กว่าปลาสวาย ลำตัวยาว ค่อนข้างแบน นัยน์ตาค่อนข้างโต อยู่เหนือมุมปาก มีหนวดเล็กและสั้นอยู่ริมฝีปากบนมุมปากแห่งละคู่ ลักษณะมีสีคล้ำหรือสีน้ำเงินปนเทา หัวสีเขียว ท้องสีขาวเงิน มีจุดสีดำขนาดใหญ่อยู่เหนือครีบหู มีขนาดความยาวประมาณ 80 - 120 เซนติเมตร
นิสัย
                รักสงบ ว่องไวปราดเปรียว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง
ถิ่นอาศัย
                เคยชุกชุมในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันพบในแม่น้ำโขง
อาหาร
                สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่า



ปลาเทพา (ปลาเลิม)
ลักษณะทั่วไป

                ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในจำพวกปลาไม่มีเกล็ดหรือปลาหนัง จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาสวายและปลาเทโพมีขนาดลำตัวยาวถึง 2.5 เมตร และมีน้ำหนักมากว่า 100 กิโลกรัม เป็นปลากินเนื้อที่มีส่วนหัวค่อนข้างสั้นแต่มีลักษณะแบนและกว้าง มีลักษณะเด่นตรงที่มีก้านครีบอันแรกของครีบหลัง ครีบอก และครีบท้อง มีขนาดใหญ่และยื่นยาวเลยครีบออกไปมาก จึงดูสง่างามในเวลาว่ายน้ำมากกว่าปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน
นิสัย                       รักสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ปกติจะว่ายน้ำตลอดเวลา
ถิ่นอาศัย               พบในประเทศไทยและประเทศในแถบอินโดจีน
อาหาร                    อาหารที่ชอบได้แก่ซากสัตว์ที่ตายลอยอยู่บนผิวน้ำ แต่ลูกปลาขนาดเล็กมักชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่และอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำนิ่ง กินแมลงน้ำ และสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร 

ปลาสวาย
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ดชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงสกุลเดียวกับปลาเทโพ มีรูปร่างลักษณะความเป็นอยู่คล้ายกับปลาเทโพ ลำตัวยาว มีสันหลังค่อนข้างตรง ส่วนหน้าจะลาดไปถึงบริเวณปาก หน้าทู่ปากกว้างมีหนวด 2 คู่ ลำตัวมีสีนวลขาว บริเวณหลังมีสีเข้ม ครีบมีสีเหลืองอ่อน ปลาขนาดเล็กจะมีแถบสีดำคาดลำตัว ขนาดความยาวประมาณ 20 - 10 เซนติเมตร
นิสัย
                รักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงในที่ร่มใกล้พันธุ์ไม้น้ำ เลี้ยงง่าย โตเร็ว
ถิ่นอาศัย
                ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงนครสวรรค์ และแม่น้ำโขง
อาหาร
                พันธุ์ไม้น้ำ ลูกหอย หนอน ไส้เดือน 

ปลาบึก
ลักษณะทั่วไป

                จัดเป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ ลำตัวมีความยาวเกือบ 3 เมตร และมีน้ำหนักมากกว่า 250 กิโลกรัม ลำตัวมีลักษณะยาวและแบนด้านข้าง ส่วนหัวค่อนข้างใหญ่ ตามีขนาดเล็กไม่มีฟัน มีหนวดสั้นๆ ที่ขากรรไกรบน 1 คู่ซ่อนอยู่ในร่องตรงเลยมุมปาก ในขณะมีชีวิตสีลำตัวจะเป็นสีเทาออกแดงทางด้านหลัง ค่อยๆ กลายเป็นสีเทาแกมฟ้าทางด้านข้าง และสีขาวทางด้านใต้ท้อง มีจุดดำจุดหนึ่งทางด้านข้างตรงตำแหน่งปลายสุดของครีบหู และจุดดำอีกสามจุดบนครีบหาง ครีบทุกครีบสีเทาจางๆ
นิสัย
                รักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณเขตน้ำลึกที่มีกระแสน้ำไหล
ถิ่นอาศัย
                อาศัยอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาเท่านั้น เคยพบบ้างในแคว้นฉานของประเทศพม่า และแคว้นยูนาน ในประเทศจีนตอนใต้ ชอบบริเวณแม่น้ำที่มีความลึกมากกว่า 10 เมตร พื้นท้องน้ำเป็นกรวด และควรจะมีเพิงหินหรือถ้ำใต้น้ำด้วย
อาหาร
                สาหร่ายที่ขึ้นอยู่ตามก้อนหินใต้น้ำเป็นอาหาร

ปลาสายยู
ลักษณะทั่วไป
                เป็นปลาน้ำจืดชนิด มีลักษณะคล้ายปลาเผาะ อันเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกัน มีตาเล็ก ปากอยู่ด้านล่าง หนวดยาวถึงบริเวณช่องเหงือก แถบฟันบนเพดานเชื่อมติดกันเป็นรูปเหลี่ยม รูปร่างเพรียว หางคอด ก้านครีบแข็งที่หลังค่อนข้างยาวและใหญ่ หัวและลำตัวสีเทาหรือสีเขียวมะกอกเหลือบเหลืองหรือเขียว บางตัวสีเทาจาง ข้างลำตัวสีจางและไม่มีแถบคล้ำ ท้องสีจาง ครีบสีจาง ลูกปลามีสีเทาอมน้ำตาลหรือเหลือง มีขนาดประมาณ 60 - 80 เซนติเมตร
ถิ่นอาศัย
                อาศัยในแม่น้ำสายใหญ่ พบมากในแม่น้ำโขง, แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง
อาหาร
                ปลาชนิดใหม่ที่มีขนาดเล็ก กินกุ้ง ปู และแมลงเป็นส่วนใหญ่ ปลาขนาดใหญ่กินหอย ปู เมล็ดพืช โดยหอยจะถูกกินทั้งตัวแล้วถ่ายออกมาเฉพาะเปลือก


ปลาสังกะวาด 
ลักษณะทั่วไป
                เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีลักษณะ หัวสั้น ตาโต ปากแคบ หนวดสั้น ลำตัวแบนข้างกว่าชนิดอื่น ๆ ท้องเป็นสันคมตลอด ปลาตัวผู้มักมีรูปร่างเพรียวยาวกว่าตัวเมีย ครีบท้องเล็กอยู่สูงกว่าระดับสันท้อง ครีบไขมันเล็ก ครีบก้นยาว ครีบหางเว้าเป็นแฉก ตัวด้านบนสีคล้ำเหลือบเขียวหรือเหลือง ข้างลำตัวสีจางมีแถบสีคล้ำตามยาวตั้งแต่บริเวณโคนครีบอก ท้องสีจาง ครีบหางสีเหลืองอ่อนขอบคล้ำ  มีขนาดประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร ใหญ่สุดที่พบคือ 30 เซนติเมตร
ถิ่นอาศัย
                 พบมากในแม่น้ำโขง, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำแม่กลอง พบน้อยในแม่น้ำตาปี เป็นปลาที่พบชุกชุม จึงเป็นปลาเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคอีสาน นิยมบริโภคเป็นปลาแห้งและปรุงสด
อาหาร
                กินแมลงเป็นอาหารหลัก กินเมล็ดพืช ผลไม้ และพืชน้ำในบางครั้ง


ปลากดเหลือง
รูปร่างลักษณะ 
            ปลากดเหลืองเป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ด  ลำตัวกลมยาว  หัวค่อนข้างแบนและเรียวเป็นรูปกรวย(conical) กระดูกท้ายทอยยาวถึงโคนครีบหลัง ตาไม่มีหนังปกคลุม  ปากกว้าง  ขากรรไกรแข็งแรง  มีฟันซี่เล็กๆสั้นปลายแหลมเป็นกลุ่มหรือแผ่นบนขากรรไกรบน  ขากรรไกรล่างและบนเพดานปากซี่กรองสั้นเล็กปลายแหลม  มี 15 ซี่  มีหมวด 4 คู่คือที่บริเวณจมูก  ริมฝีปากบน  ริมฝีปากล่าง  และใต้คางอย่างละ 1 คู่  ซึ่งหนวดคู่แรกและหนวดคู่สุดท้ายจะมีความยาวสั้นกว่าคู่ที่สองและคู่ที่สาม
ถิ่นอาศัย
                ในประเทศไทยพบแพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำทั่วทุกภาคของประเทศ 
อาหาร
                กินอาหารในธรรมชาติได้แก่  ปลาขาดเล็ก  ตัวอ่อนแมลงหรือแมลงในน้ำ  กุ้งน้ำจืด  เศษพันธุ์ไม้น้ำ  และหอยฝาเดียว


ปลากดคลัง
 ลักษณะทั่วไป
                ปลากดคังเป็นปลาที่มีลักษณะรูปร่างยาวเพรียว ส่วนหัวแบนกว้าง ด้านบนของหัวเรียบ ลำตัวด้านบนมีสีม่วง-เทาปนดำ ส่วนท้องขาว ปากกว้าง จงอยปากทู่ ตำแหน่งของปากตั้งอยู่ต่ำ ฟันคม ตาไม่มีเยื่อหุ้ม และอยู่ระดับเดียวกับมุมปาก มีหนวด 4 คู่ คือหนวดที่จมูกค่อนข้างสั้น ยาวถึงกึ่งกลางตาเท่านั้น
ถิ่นอาศัย
                มีถิ่นอาศัยในแหล่งน้ำธรรมชาติ บริเวณแม่น้ำลำคลอง ตลอดจนอ่างเก็บน้ำ และเขื่อนต่าง ๆ ทั่วไป
อาหาร
ปลากดคังเป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร โดยกินสัตว์น้ำ ซากสัตว์เป็นอาหาร และสามารถฝึกกินปลาทะเลสับ อาหารผสม และอาหารเม็ดสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำได้




อ้างถึง ปลาเค้า , ปลาเทโพ , ปลาเทพา , ปลาสวาย , ปลาบึก : http://www.fisheries.go.th/sf-ratburi/Fish/Fish.htm
          ปลากดเหลือง : http://www.fisheries.go.th/if-phayao/web2/index.php?option=com_content&view=article&id=34&Itemid=44
          ปลากดคลัง : https://www.google.co.th/search?q=%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A2%E0%B8%B9&biw=1280&bih=923&source=lnms&tbm=isch&sa=X&ei=1U6RVb6KGs6TuQSyx6PQCQ&ved=0CAYQ_AUoAQ#tbm=isch&q=%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%87&imgrc=bqEFadM7Y-3aHM%3A
     





วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558


ปลาที่มีเกล็ด                




              ปลาตะเพียนหางแดง
ลักษณะทั่วไป
                เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างป้อมสั้น ลำตัวแบนข้าง หัวเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ นัตย์ตาเล็ก ปากเล็กและอยู่ปลายสุด หนวดเล็กและสั้นมี 2 คู่ เกล็ดมีขนาดใหญ่ ครีบกระโดงหลังสูง และกว้างมีสีแดง ลำตัวเป็นสีขาวเงินและสีเหลืองปนส้ม ด้านหลังสีเทาปนเขียว แก้มสีเหลืองปนแดง ขนาดของลำตัวความยาว 15 - 35 เซนติเมตร
นิสัย                       รักสงบ อยู่รวมกันเป็นฝูง ปราดเปรียว ว่องไว ไม่อยู่นิ่งชอบว่ายน้ำตลอดเวลา
ถิ่นอาศัย               พบทุกภาคในประเทศไทย ทำให้มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป
อาหาร                    พืชพันธุ์ไม้น้ำ ตัวอ่อนแมลงน้ำ ซากสัตว์และพืชที่เน่าเปื่อย 


                ปลากระโห้
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง เป็นปลาน้ำจืดจำพวก ปลาตะเพียน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลำตัวค่อนข้างป้อมแบนข้าง พื้นลำตัวสีเทาแซมชมพู สันหลังเป็นสีน้ำตาลอมดำ ด้านข้างและส่วนท้องมีสีจางกว่า ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ มีหัวยาวและใหญ่ผิดปกติ หัวมีผิวเรียบมัน ไม่มีเกล็ดคลุม ความยาวของหัวประมาณ 1ใน3 ของลำตัว ตาโตและยื่นโปน ริมฝีปากล่างหนาและยื่นออกมาพ้นริมฝีปากด้านบน ปากกว้างขากรรไกรยาวถึงบริเวณตา มีฟันที่คอหอยเป็นแถวอยู่ข้างละแถว ไม่มีหนวด เกล็ดมีขนาดใหญ่ขอบเรียบ ครีบหลังสูงและอยู่ตรงกับครีบท้อง ครีบก้นค่อนข้างยาว ครีบหางเป็นแถบเว้าลึก ครีบทุกอันมีสีแดงปนส้ม ปลาตัวผู้มีลำตัวเล็กและเรียว ส่วนท้องแบบเรียบสีดำคล้ำกว่าตัวเมีย
นิสัย                       มีนิสัยรักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมเป็นฝูงในแหล่งน้ำลึก แข็งแรงและอดทน
ถิ่นอาศัย               ประเทศไทย เคยมีอยู่ชุกชุมในลุ่มแม่นํ้า แม่กลอง เจ้าพระยาจนถึงบอระเพ็ดในปัจจุบันมีปริมาณน้อยลงมาก แต่ก็ยังมีปรากฏให้พบเห็นอยู่บ้างในลำนํ้าโขง ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า ปลากะมัน หรือ หัวมัน
อาหาร
                    แพลงก์ตอน พืชนํ้า 

ปลากา 
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาน้ำจืดขนาดกลาง ลำตัวเรียวยาวแบนข้าง พื้นลำตัวสีม่วงดำหรือน้ำเงินดำ เกล็ดมีขนาดใหญ่คลุมตลอดลำตัวยกเว้นส่วนหัว หัวเรียวแหลม ปากยืดหดได้ ไม่มีฟัน ริมฝีปากบนและล่างเป็นหยัก มีติ่งเนื้อเป็นฝอยสั้น ๆ อยู่รวมกันเป็นกระจุก มีหนวด 2 คู่ ครีบหลังมีขนาดใหญ่และสูงมาก ครีบหู ครีบท้อง และครีบก้น เรียวยาวและมีขนาดไล่เลี่ยกัน ครีบหางยาวเป็นแฉกเว้าลึก ครีบทุกครีบมีสีดำ
ถิ่นอาศัย               ประเทศไทย แหล่งน้ำที่มีระดับน้ำตื้นๆ และมีพันธุ์ไม้น้ำ
อาหาร                    ตะไคร่น้ำ พืชน้ำขนาดเล็ก แพลงก์ตอน ซากพืชและตัวอ่อนแมลงน้ำ


ปลาเสือพ่นน้ำ
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาผิวน้ำขนาดเล็ก พบได้ทั้งในแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย ลำตัวป้อมสั้นและแบนข้าง ความยาวลำตัวประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร พื้นลำตัวสีเงินแซมเหลือง บริเวณท้องมีสีขาวเงิน มีแถบสีดำขนาดใหญ่พาดขวางลำตัว 5 - 6 แถบ ปากมีขนาดใหญ่และเฉียงขึ้นข้างบน ดวงตากลมโต และอยู่ค่อนไปทางสันหลังกลับกลอกไปมาได้ สีของครีบหลังและครีบก้นเป็นสีส้มอมเหลือง ขอบครีบเป็นสีดำ ครีบหลังส่วนหน้ามีก้านครีบแข็ง
นิสัย       ปลาเสือมีความสามารถพิเศษอยู่สองประการ คือ สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่เหนือน้ำ ได้เป็นระยะห่าง 3 - 5 ฟุต และอีกประการหนึ่ง คือ สามารถพ่นน้ำได้สูงถึง 1.5 เมตร จากผิวน้ำ พ่นน้ำได้โดยแรงดันอย่างรวดเร็วของแผ่นปิดเหงือกกับช่องเล็กๆ ใต้เพดานปาก เพื่อให้เหยื่อตกลงมาและจับกินได้ เป็นปลาที่ก้าวร้าว ชอบอยู่รวมเป็นฝูง และลอยตัวอยู่ผิวน้ำ เพื่อคอยจับแมลงผิวน้ำกิน
ถิ่นอาศัย               ประเทศไทย อยู่ตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงที่มีทางเชื่อมติดต่อกับแม่น้ำและตามบริเวณปากแม่น้ำ
อาหาร                   แมลงน้ำ ลูกกุ้ง ลูกปลา ลูกน้ำ แมลงที่บินอยู่เหนือผิวน้ำ 


ปลาสลาด
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างคล้ายปลากรายแต่มีขนาดเล็กกว่า ไม่มีจุดสีดำที่ครีบก้น ลำตัวมีสีขาวปนเทา ครีบหลังและครีบอกมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบท้องมีขนาดเล็กมาก ครีบก้นและครีบหางเชื่อมติดกันเป็นแผ่นเดียว โดยทั่วไปมีขนาดความยาว 15 - 20 เซนติเมตร ขนาดใหญ่สุดเท่าเคยพบมีความยาวถึง 30 เซนติเมตร
นิสัย                       ขี้อาย ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ และหลบพักตามตอไม้หรือซอกหิน ไม่ชอบแสงสว่างมาก ออกหากินในเวลากลางคืน โดยชอบผุดขึ้นมาฮุบอากาศทำเสียงที่ผิวน้ำและม้วนตัวกลับให้เห็นข้างขาวคล้ายสีเงิน
ถิ่นอาศัย               พบในแม่น้ำคลองทั่วไปของทุกภาคของไทย
อาหาร                    ลูกปลา ลูกกุ้ง 

ปลากราย 
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาน้ำจืดรูปร่างคล้ายปลาฉลาก ท้องแบน ลำตัวด้านข้างแบนมากสันหลังส่วนต้นสูงชันและค่อย ๆ ลาดลงไปยังส่วนหางคล้ายมีด พื้นที่ลำตัวสีเทาเงิน ลำตัวส่วนบนสีคล้ำกว่าด้านล่าง เกล็ดละเอียด หัวมีขนาดเล็กปลายหัวแหลมมน ปากกว้างสั้นทู่ นัยน์ตาเล็ก มีฟันแหลมคมบนขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง ครีบหลังขนาดเล็กปลายมนคล้ายขนนก ครีบท้องยาวเป็นแพรเชื่อมกับครีบหาง เหนือครีบก้นมีจุดดำกลางขนาดใหญ่ล้อมรอบ ด้วยวงแหวนสีขาวเรียบเป็นแถวอยู่ 5 - 10 จุด ลูกปลากรายเมื่อยังเล็กมีแถบสีดำประมาณ 10 -15 แถบพาดขวางลำตัว เมื่อโตขึ้นแถบดำเหล่านี้จะค่อยจางหายไปกลางเป็นจุดขึ้นมา แทนที่ มีขนาดความยาวประมาณ 48 - 85 เซนติเมตร
นิสัย                       ชอบอยู่รวมเป็นฝูงเล็กๆ และหลบพักตามตอไม้ หรือซอกหิน ไม่ชอบแสงสว่างมากจึงมักออกหากินในเวลากลางคืน ชอบผุดขึ้นมาทำเสียงที่ผิวน้ำแล้วม้วนตัวกลับให้เห็นข้างสีเงินขาว
ถิ่นอาศัย               ประเทศไทย พม่า อินเดีย มาเลเซีย ในไทยพบทั่วไปตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง ภาคเหนือเรียกว่า ปลาแพน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ปลาตองกราย
อาหาร                    แมลงน้ำ ลูกกุ้ง ปลาผิวน้ำตัวเล็กๆ


                ปลาตะเพียนขาว
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาน้ำจืดคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่รู้จักดีตั้งแต่สมัยสุโขทัย ลักษณะ ลำตัวอ้วนป้อม หัวเล็กเกล็ดใหญ่ ปากเล็ก ลักษณะที่แตกต่างจากพวกเดียวกันคือมีก้านครีบอ่อนของครีบก้นอยู่ 6 ก้าน ส่วนชนิดอื่นมี 5 ก้าน สีของลำตัวเป็นสีเขียวอมฟ้า ด้านหลังสีน้ำตาลปนเทา ท้องสีขาว เป็นปลาที่ปราดเปรียวว่ายน้ำรวดเร็ว กระโดดได้สูงมาก มีขนาดความยาวประมาณ 8 - 20 เซนติเมตร
นิสัย                       รับสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงนอกจากเวลาสืบพันธุ์หรือวางไข่ มีความว่องไวปราดเปรียว ชอบหลบซ่อนตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงที่มีกระแสน้ำไหลอ่อน ๆ หรือน้ำนิ่ง เป็นปลาที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี สามารถนำมาเลี้ยงและเพาะพันธุ์ได้ง่าย
ถิ่นอาศัย               พบในแหล่งน้ำไหล และน้ำนิ่งในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อาหาร                    พืช เมล็ดพืช เมล็ดพืชตระกูลหญ้า สาหร่าย ตะไคร่น้ำ ซากพืชซากสัตว์ แพลงตอน และไรน้ำ 


ปลานิล
ลักษณะทั่วไป

                เป็นรูปร่างคล้ายปลาหมอเทศ แตกต่างกันที่ปลานิลมีลายสีดำและจุดสีขาวสลับกันไป บริเวณครีบหลัง ครีบก้นและลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล มีลายดำพาดขวางตามลำตัวมีความยาวประมาณ 10 - 30 เซนติเมตร
นิสัย                       อดทน เลี้ยงง่าย โตเร็ว สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
ถิ่นอาศัย               ปลานิลเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยเจ้าชายฮากิฮาโต มงกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 จำนวน 50 ตัว
อาหาร                    จำพวกไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลง 


ปลาชะโด
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาน้ำจืด ลำตัวกลมยาวเป็นรูปทรงกระบอก รูปร่างคล้ายคลึงกับปลาช่อน เป็นปลาที่มีรูปร่างใหญ่ที่สุดในสกุลนี้ ลูกปลาชะโดเมื่อยังเล็ก ลำตัวมีสีน้ำตาลและแถบสีเหลืองอมส้มพาดตามยาว โดยบริเวณโคนหางมีสีแดงสด เมื่อโตขึ้นส่วนบนของลำตัวมีสีเขียวอมน้ำเงินเข้มคลายสีเปลือกหอยแมลงภู่ ส่วนท้องสีขาว กึ่งกลางลำตัวมีแถบดำพาดไปตามความยาวของลำตัว ภายในปากมีฟันแหลมคม ครีบหลังและครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหางมนกลม ปลาชะโดมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจโดยไม่ต้องกรองผ่านช่องเหงือกเหมือนปลาช่อน
นิสัย                       เป็นปลาน้ำจืดที่ค่อนข้างดุ
ถิ่นอาศัย               ในแม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
อาหาร                    สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่า 


ปลาสร้อย
ลักษณะทั่วไป

                ลำตัวปราดเปรียว แบนข้าง ปากมีขนาดเล็ก กึ่งกลางของริมฝีปากมีปุ่มกระดูกยื่นออกมา ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของปลาในตระกูลนี้คือไม่มีหนวด ตามปกติจะหากินกันเป็นฝูง ๆ ขนาดความยาวประมาณ 7 - 20 เซนติเมตร
นิสัย                       รักสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง
ถิ่นอาศัย               พบทั่วไปทุกภาคของไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
อาหาร                    พืชน้ำ แมลงน้ำ 


ปลาแรด
ลักษณะทั่วไป

                เป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์ปลาหมอ ลำตัวสั้นป้อมและแบนข้าง เกล็ดมีขนาดใหญ่ หัวเล็กและป้าน ปากเฉียงขึ้นสามารถยืดหดได้ มีฟันแข็งแรง สันลำตัวส่วนที่อยู่ติดกับหัวจะโหนกสูงคล้ายนอแรด ครีบหลังและครีบก้นค่อนข้างยาว และมีก้านเป็นหนามแข็ง ครีบท้องมีก้านแข็ง 1 อัน ก้านครีบอ่อน 5 อัน ก้านครีบอ่อนคู่แรกมีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว ลักษณะคล้ายหนวดยาวเลยไปถึงปลายหาง คลีบหางมนกลมมีจุดสีดำที่โคนหางข้างละจุด สีสันของลำตัวจะเปลี่ยนไปตามขนาดและอายุของปลา เมื่อยังเล็กพื้นลำตัวจะเป็นสีม่วงอมเหลืองและมีแถบสีดำข้างและ 8 แถบ พาดขวางลำตัว เมื่อปลาโตขึ้นลำตัวด้านบนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนดำหรือสีเทา ด้านล่างเป็นสีขาวแกมเหลือง ส่วนจุดที่โคนหางจะเลือนหายไป มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ สามารถมีชีวิตอยู่บนบกได้นาน ๆ หรือสามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ ๆ
นิสัย                       เป็นปลาที่ตื่นตกใจง่าย และค่อนข้างเชื่องช้า มีนิสัยดุร้าย มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อม การวางไข่ของปลาชนิดนี้แตกต่างไปจากปลาชนิดอื่น กล่าวคือมันจะใช้กิ่งไม้ ก้านไม้และวัตถุอื่นๆ มาสร้างรังคล้ายรังนก ไข่ของปลาชนิดนี้มีขนาดใหญ่ มีไขมันมาก ลอยน้ำ
ถิ่นอาศัย               ประเทศไทย ในแม่น้ำและหนองบึงที่มีทางน้ำติดต่อกันกับแม่น้ำ ภาคกลางพบที่แก่งกระจาน จังเหวัดเพชรบุรีและในลำน้ำเจ้าพระยาและสาขา ทางภาคใต้เรียกกันว่า ปลาเม่นหรือปลามิ่น พบในลำน้ำตาปีและสาขา
อาหาร                    พืชแทบทุกชนิด



อ้างถึง  ปลาที่มีเกล็ด : http://www.fisheries.go.th/sf-ratburi/Fish/Fish.htm 




วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปลาที่พบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา


 เป็นปลาที่พบได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นแม่น้ำหลักของประเทศอีกลุ่มแม่น้ำหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีการค้นพบปลาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้แล้วไม่ต่ำกว่า 350 ชนิด นับเป็นอันดับ 2 รองจากลุ่มแม่น้ำโขง แต่ชนิด ของปลาที่พบได้ในลุ่มแม่น้ำแห่งนี้เป็นชนิดเดียวกันกับปลาที่พบในลุ่มแม่น้ำโขงถึงร้อยละ 50

ซึ้งปลาน้ำจืดที่มักพบในแม่น้ำเจ้าพระยามีดังนี้
ปลากระโห่                           ปลากราย 
ปลากา                                  ปลาตะเพียนขาว 
ปาลาตะเพียนทอง                 ปลานิล 
ปลาเค้า                                  ปลาเทโพ 
ปลาเสือพ้นน้ำ                       ปลาสร้อยขาว
ปลาสลาด                              ปลาสวาย 
ปลาแรด                                ปลาชะโด
ปลาบึก                                  ปลาสังกะวาด                    
ปลากดเหลือง                        ปลากดคัง
ปลาสายยู                              ปลาเทพา
                    


                และสามารถแยกออกเป็น 2 ประเภท  คือ ปลาที่มีเกล็ดกับปลาที่ไม่มีเกล็ด
ปลามีเกล็ด
ปลากระโห้                           ปลากราย 
ปลากา                                  ปลาตะเพียนขาว
ปลาตะเพียนทอง                 ปลานิล 
ปลาชะโด                       ปลาแรด 
ปลาเสือพ่นน้ำ                     ปลาสร้อยขาว 
ปลาสลาด                             
                       
                              
                               
ปลาไม่มีเกล็ด
ปลาสวาย                               ปลาบึก 
ปลาเทโพ                               ปลาเค้า 
ปลากดคัง                              ปลากดเหลือง
ปลาสังกะวาด                       ปลาสายยู
ปลาเทพา
                                

อ้างถึง  ปลาที่พบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2